ที่มาการสร้างพระมหาเจดีย์

พระมหาเจดีย์ศรีแสงธรรมวิสุทธิมงคล

การที่พ่อแม่ครูจารย์หลวงตาพระมหาบัว  ญาณสัมปันโน ได้ให้ความเมตตาคณะศิษย์และชาวบ้านทั้งที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลอันนำมาซึ่งความปลาบปลื้มเป็นสุขแก่ทุกดวงใจ

“ด้วยสำนึกในพระสังฆคุณอันหาที่สุดประมาณมิได้ที่องค์ท่านเมตตาอบรมสั่งสอนคุณงามความดีทุกสิ่งทุกประการ  สอนกรรมฐานทางสู่มรรค ผล นิพพานอย่างแจ่มแจ้ง  ทั้งสงเคราะห์โลกด้านต่างๆ และทั้งช่วยชาติไทยให้พ้นจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ    ทำอย่างไรเราจึงจะตอบแทนพระคุณขององค์ท่านได้อย่างถูกต้องเหมาะสมที่สุด”

พระอาจารย์โสภา สมโณ  คณะศิษย์ และชาวบ้านทั้งหลายจึงปรึกษาร่วมกันแล้วมีความเห็นตรงกันว่าจะสร้างอนุสรณ์ไว้บูชาคุณขององค์หลวงตาฯ ให้เป็นอนุสติแก่ชาวพุทธในกาลสืบไป          เมื่อคณะศิษย์มีโอกาสได้รับมอบอัฐิธาตุขององค์หลวงตาฯ จากวัดป่าบ้านตาด  จักนำมาประดิษฐานไว้บนศาลาวัดแสงธรรมวังเขาเขียวเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการสร้างพระมหาเจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิธาตุเป็นการถาวรสืบไป

วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓  ตัวแทนผู้ประสานงานของวัดแสงธรรมวังเขาเขียวและคณะศิษย์ได้หารือร่วมกันว่า  พื้นที่ ส.ป.ก. 4-10  เลขที่ 3019  เจ้าของสิทธิ์ที่ครอบครองตามกฎหมายคือ นายประสิทธิ์  เฉลิมเกียรติ มีพื้นที่ติดกับพื้นที่ของวัดแสงธรรมวังเขาเขียว     นายประสิทธิ์ เฉลิมเกียรติ ได้พิจารณาว่าถ้าโอนการครอบครองให้ทางวัดฯ ได้ใช้ประโยชน์ในการสร้างพระมหาเจดีย์เพื่อเทิดทูนและบูชาคุณองค์หลวงตาฯ จะเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่หาค่าประมาณมิได้เพราะจะได้เป็นที่  สักการบูชาของคณะศิษย์และชาวพุทธทั่วไป     นายประสิทธิ์ เฉลิมเกียรติ และครอบครัวจึงได้แสดงเจตนาที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อยืนยันการตัดสินใจและให้วัดแสงธรรมวังเขาเขียวเข้าครอบครองทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาแทนตนเอง     โดยทำบันทึกเป็นเอกสารเพื่อให้วัดแสงธรรมวังเขาเขียวใช้เป็นหลักฐานประกอบคำขอทำเรื่องกับสำนักพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔  ท่านผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านบุตะโกเมืองใหม่  และตัวแทนผู้ประสานงานของวัดฯ พร้อมทั้งชาวบ้านได้ประชุมหารือการจัดทำประชาคมร่วมกันภายในวัดแสงธรรมวังเขาเขียว          โดยข้อสรุปการทำประชาคม  ทุกท่านยืนยันเจตนาเดิมที่จะสร้างอนุสรณ์ คือพระมหาเจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิธาตุขององค์หลวงตาฯ และเป็นเสมือนสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคณะศิษย์และชาวพุทธทั่วไป     เพื่อการสร้างคุณงามความดีตามรอยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และตามคำสอนขององค์หลวงตาฯ     เพื่อเป็นอนุสรณ์แทนองค์หลวงตาฯ เสมือนว่ายังอยู่คู่กับชาวอำเภอวังน้ำเขียวตลอดไป     และเพื่อความเป็นสิริมงคลของทุกท่านที่ได้มาสักการบูชาหรือปฏิบัติบูชาที่วัดแสงธรรมวังเขาเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

ลักษณะสถานที่ก่อสร้างพระมหาเจดีย์

อำเภอวังน้ำเขียว  จังหวัดนครราชสีมา เป็นประตูทางเข้า-ออกสู่ภาคอีสาน  โดยสถานที่ที่เลือกนี้เป็นแปลงที่ติดกับแปลงหมายเลขที่ 54/2(8) ของวัดแสงธรรมวังเขาเขียว  คือ ตามที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ระบุในทะเบียนจัดสรรที่ดินให้วัดบุตะโกเมืองใหม่ (วัดแสงธรรมวังเขาเขียว) ครอบครองใช้ทำประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนา          พื้นที่ดังกล่าวที่เตรียมงานก่อสร้างพระมหาเจดีย์นี้มีภูมิทัศน์เหมาะกับการสร้างพระมหาเจดีย์เพราะมีลำห้วยดอกบัวล้อมรอบสามด้าน เป็นเนินเดินปากทางเข้าวัดที่มีความสูงพอดี จะทำให้พระมหาเจดีย์เกิดความสวยงาม โดดเด่น และมองเห็นได้ในระยะไกล     ในเขตพื้นที่ดังกล่าวไม่มีไม้ประเภทหวงห้าม มีเฉพาะไม้ประเภทให้ผล เช่นมะม่วง ชมพู่ มะไฟ     ความเห็นชุมชนรับรองว่ากิจการที่ขอใช้ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยผ่านที่ประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล

วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔  เรื่องขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างพระมหาเจดีย์ของวัดแสงธรรมวังเขาเขียว  ได้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาแล้ว  ในคราวประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๕๔  ตามที่ขออนุญาตนั้น คือ ที่ดินเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. 4-10  ระวาง ส.ป.ก. / กลุ่มที่  54  แปลงเลขที่ 7 หรือตามโฉนด / น.ส. 3 ก / น.ส. 3  เลขที่สารบัญทะเบียนที่ดิน 3019 เล่มที่ 31 หน้าที่ 19 ที่ดินตั้งอยู่หมู่ที่ .19. ตำบล/แขวง วังน้ำเขียว อำเภอ/เขต วังน้ำเขียว จังหวัด นครราชสีมา จำนวนเนื้อที่ 13 ไร่  2 งาน 17 ตารางวา  มีอาณาเขตโดยสังเขปดังนี้

ทิศเหนือ                   จด  ลำห้วย ที่ดินแปลงหมายเลข 54 / 2

ทิศใต้                      จด  ลำห้วย

ทิศตะวันออก           จด ที่ดินแปลงหมายเลข 54 / 5

ทิศตะวันตก              จด ที่ดินแปลงหมายเลข 54 / 4

วัตถุประสงค์ในการก่อสร้างพระมหาเจดีย์

๑. เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒. เพื่อบรรจุพระอัฐิธาตุ และอัฏฐบริขารของพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)

๓. เพื่อการศึกษาและปฏิบัติตามพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และตามคำสอนของพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)

๔. เพื่อเป็นอนุสรณ์แทนองค์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)เสมือนว่ายังอยู่คู่กับชาวอำเภอวังน้ำเขียวตลอดไป

๕. เพื่อความเป็นสิริมงคลของคนในชุมชนและคนทั่วไป ได้มาสักการบูชาหรือปฏิบัติบูชาที่วัดแสงธรรมวังเขาเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

๖. เพื่อเป็นปูชนียสถานสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรสืบไป

ลักษณะและประโยชน์ใช้สอย

ลักษณะรูปแบบขององค์เจดีย์จะประกาศให้ผู้พบเห็นรับทราบเองว่าพระมหาเจดีย์องค์นี้ คือ สัญลักษณ์แทนองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน  โดยเป็นทั้งพระธาตุเจดีย์

๑.พระมหาเจดีย์มีรูปทรงดอกบัว  ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของฐาน ๗๔ เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดฉัตร ๖๕ เมตร มีถนนโดยรอบ

๒.ห้องใต้ฐานปฏิบัติธรรม พื้นที่ ๑,๑๐๐ ตารางเมตร  เป็นที่ปฏิบัติธรรมและประกอบศาสนกิจ  มีระเบียงกว้าง ๗.๑๐ เมตรใช้เป็นที่เดินประทักษิณของอุบาสก-อุบาสิกา

๓.ห้องโถงเก็บพระบรมสารีริกธาตุและอัฐิธาตุ  ทรงครึ่งวงกลมคล้ายระฆังคว่ำเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน ๑๘ เมตร  มีระเบียงดอกบัวกว้าง ๗.๔๐ เมตรใช้เป็นที่เดินประทักษิณของพระภิกษุ-สามเณร

ระยะเวลาดำเนินงาน

            กำหนดแผนงานก่อสร้าง เริ่มวางศิลาฤกษ์วันที่  ๒๓  ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ระยะเวลาที่ใช้ในการก่อนสร้างโดยประมาณ  ๒๘-๓๖  เดือน   หรือจนกว่าจะแล้วเสร็จ

อานิสงค์ของการสร้างพระมหาเจดีย์

การสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรืออัฐิธาตุของบุคคลที่ควรบูชาเป็นการสร้างมหามงคลให้ตนเองอย่างสูงสุด เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ย่อมได้ดวงตาเห็นธรรมและบรรลุมรรคผลนิพพานได้ง่าย  การมีส่วนร่วมสร้างพระเจดีย์ด้วยการร่วมบริจาคเองก็ดีด้วยการชักชวนผู้อื่นก็ดี หากทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธาย่อมได้รับอานิสงค์มากมาย ดังเรื่องอดีตของพระสุธาปิณฑิยเถระ ผู้ใส่ก้อนปูนขาวเพียง ๑ ก้อนลงสู่ในช่องแผ่นอิฐที่มหาบันกำลังก่อสร้างบนเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วยจิตใจเลื่อมใสศรัทธายิ่ง ผลบุญนั้นดลบันดาลให้ท่านเกิดเสวยสุขในสวรรค์และโลกมนุษย์ถึง ๙๔ กัปป์ จนถึงสมัยพระสมณโคดม พระพุทธเจ้าองค์นี้ ท่านได้ออกบวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์

เมื่อใดพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธามานมัสการและเวียนเทียนรอบพระเจดีย์ บุญกุศลนี้ย่อมเกิดแก่เจ้าของผู้ร่วมบริจาคทรัพย์และแรงงานที่สร้างพระมหาเจดีย์องค์นี้

Contents: © Wat Sang Tham Wang Kao Kaew, 2012