การออกแบบองพระมหาเจดีย์

บันทึกความเป็นมาในการออกแบบพระมหาเจดีย์ศรีแสงธรรมวิสุทธิมงคล ปรารถนาให้ทุกท่านรับทราบรายละเอียดที่มา เพื่อน้อมถวายต่อพระพุทธศาสนาและองค์พระหลวงตามหาบัวฯ

พระมหาเจดีย์ศรีแสงธรรมวิสุทธิมงคลเจดีย์
คือสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่และความดีงาม
กำเนิดขึ้นจากแรงศรัทธาของ พระอาจารย์โสภา สมโณ เพื่อสร้างถวายและบูชาคุณ องค์พระหลวงตามหาบัวฯ รูปแบบทั้งหมดมาจากจินตนาการและการกำหนดรูปลักษณ์ ของพระอาจารย์ฯ
รูปแบบทางศิลปกรรมเป็นแบบศิลปะล้านช้างและล้านนาประยุกต์
โดยกำหนดส่วนประดับต่างๆ เป็นรูปบัว ต้องการสื่อถึงองค์พระหลวงตามหาบัว
1. ขนาดความสูง77เมตรหมายความถึงอายุพรรษาองค์หลวงตา
2 ด้านบนชั้นบัลลังก์ ประดับด้วยเสาสรนัย 16 ต้น ต้องการสื่อถึงอายุพรรษาที่องค์หลวงตาบรรลุธรรม
3 ด้านฐานองค์ระฆัง ประดับเสาสรนัย 34 ต้นต้องการสื่อถึงอายุหลวงตาที่ยังเป็นมนุษย์ ก่อนหลุดพ้น
เสาสรนัยหมายถึง เสาทรงยอดแหลมหรือยอดดอกบัว เป็นการแสดงที่สื่อถึงจำนวนนับทางตัวเลขที่ต้องการจะสื่อถึงและสัมพันธ์กับข้อหลักธรรมต่างๆ หรือ วัน เวลา อายุ ของอริยะบุคคลนั้นๆ

โดยหลักทางพระพุทธศาสนาแบ่งเจดีย์ออกเป็น 4 ประเภทเจดีย์
และ พระมหาเจดีย์ศรีแสงธรรมวิสุทธิมงคล มีรูปลักษณะครบทั้งสี่แบบ คือ
1. ธาตุเจดีย์ เป็นสถูปหรือสิ่งก่อสร้างเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ในองค์นี้บรรจุไว้บนยอดฉัตรส่วนที่สูงที่สุด
2. บริโภคเจดีย์ หมายถึงเจดีย์ที่สร้างบรรจุอัฐบริขารต่างๆ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ และพระอริยะบุคคลต่างๆ ซึ่งพระมหาเจดีย์ศรีแสงธรรมวิสุทธิมงคลนี่สร้างเพื่อบรรจุอัฐบริขารต่างของ หลวงตามหาบัวฯ ที่องค์ท่านได้ใช้ที่วัดแสงธรรมวังเขาเขียว
3. ธรรมเจดีย์ หมายถึงเจดีย์ที่บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ในพระมหาเจดีย์ศรีแสงธรรมวิสุทธิมงคล องค์นี้มีคำสอนของพระพุทธเจ้า และคำสอนขององค์พระหลวงตามหาบัวฯ และพระมหาเจดีย์ฯ องค์นี้มีห้องสำหรับการปฏิบัตธรรมฟังธรรม
4. อุทเทสิกเจดีย์ สิ่งของที่สร้างอุทิศพระพุทธเจ้าและเป็นสัญลักษณ์และองค์แทนพระพุทธเจ้า และเป็นสิ่งรำลึกถึงพระพุทธองค์เพื่อเป็นพุทธานุสติ องค์พระเจดีย์นี้มีพระประธานปางมารวิชัย ให้กราบสักการะบูชา

รูปแบบและธรรมเนียมการสร้างสถูปเจดีย์
จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 อย่าง คือ ซึ่งเป็นการจำลองจากเหตุการณ์ การถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ มกุฏธพันธเจดีย์ ที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย ดังนี้
1. มีการทำเป็นเนินดินลักษณะทรงโอคว่ำ หรือต่อมาเรียกว่า องค์ระฆัง องค์เจดีย์นี้มีเนินดินเกิดจากธรรมชาติสูงกว่าพื้นดินปกติประมาณ 6เมตร
2. บัลลังก์ คือที่ประทับหรือวางโลงบรรจุพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไว้บนเนินดินทรงโอคว่ำหรือองค์ระฆังนั้น เพื่อสื่อถึงความสำคัญของพระพุทธองค์ องค์เจดีย์นี้เมีอยู่ด้านบนหลังองค์ระฆัง
3. ฉัตร บงบอกถึงบุญบารมีและฐานะของพระพุทธองค์ ที่มาจากวรรณะกษัตริย์ ซึ่งเป็นวรรณะชั้นสูงของคนในอินเดียโบราณ ในปัจจุบันจะเป็นเครื่องแสดงฐานะของผู้สร้าง
4. ฐานหรือ แนวกั้นบริเวณขององค์เจดีย์ หรือในปัจจุบันคือกำแพงแก้ว เพื่อสื่อถึงว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ และสำคัญ กำหนดโดยเสากำแพงแก้ว องค์เจดีย์นี้มีเสากำแพงแก้ว ติดตั้งอยู่ในบริเวณล่างสุดของพื้นที่ มี17ต้น 3 ขนาด

นอกจากนี้ยังมีการทำซุ้มประตู หรือซุ้มพระไว้ทั้ง สี่ทิศ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่จะหลั่งไหลมาจากทิศทั้งสี่ เพื่อมาสักการะบูชา พระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ และพระอริยะบุคคลต่างๆ นอกจากมนุษย์แล้วยังเป็นประตูเพื่อรับการมาของเทวดาชั้นต่างๆที่จะมาสักการะองค์พระเจดีย์นี้ด้วยเช่นกัน
ซุ้มพระทั้ง สี่ทิศ สื่อถึง การเป็นสิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนา อันหมายถึงพระพุทธเจ้า ทั้งสี่พระองค์ ที่เสด็จมาโปรดสัตว์โลกและดับขันธปรินิพพานไปแล้ว คือ พระกกุธสันธะพุทธเจ้า พระโกนาคมนะพุทธเจ้า พระกัสปปะพุทธเจ้า และองค์ปัจจุบันคือพระโคตมะพุทธเจ้า และซุ้มพระทั้งสี่ทิศนี้ ยังสร้างเพื่อการรับ เทวดาจากทิศทั้งสี่ คือท้าวจาตุมหาราชิกา ที่มีหน้าที่ปกครองโลกมนุษย์โดยได้รับอำนาจการปกครองมาจากพระอินทร์
โดยท้าวจาตุมหาราชิกานี้ จะมาจากทิศทั้งสี่ คือ
๑. ท้าวธตรัฏฐะ อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุเป็นผู้ปกครองคันธัพพ เทวดาทั้งหมด
๒. ท้าววิรุฬหกะ อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑเทวดา ทั้งหมด
๓. ท้าววิรูปักขะ อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองนาคะ เทวดาทั้งหมด
๔. ท้าวกุเวระ หรือ ท้าวเวสสุวรรณ อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองยักขะเทวดาทั้งหมด
โดยท้าวทั้งสี่นี้จะเป็นผู้มาจดเอารายชื่อ ของบุคคลหรือผู้กระทำคุณความดีต่างๆ โดยมาจากทิศทั้งสี่ โดยจดชื่อลงในสุพรรณบัตร(แผ่นทองคำ) และหิรัญบัตร (แผ่นเงิน) ตามลักษณะของบุญที่ทำ เพื่อนำรายชื่อนี้เข้าไปแจ้งและเสนอในที่ประชุมของเทวสภา ที่มีองค์พระอินทร์เป็นประธาน เมื่อเหล่าทวยเทพทราบชื่อเหล่านั้นก็จะมีความปิติยินดี และอนุโมทนาสาธุการในคุณความดีของเหล่ามนุษย์นั้นๆ

Contents: © Wat Sang Tham Wang Kao Kaew, 2012